top of page

พาดหัวข่าว นสพ.บ้านเมือง 16 ธ.ค. 2552

       พระภิกษุท่าทางสงบเย็น กับสุขภาพที่ยังแข็งแรง ทั้งที่วัยล่วงเลยมาถึง 73 ปีแล้วก็ตาม ห่างไปไม่ไกลมีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ทยอยเข้ามานมัสการไม่ขาด และส่วนมากได้ถามไถ่ถึงที่มาที่ไปของวัดวรเชษฐ์ วัดซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาว นาน และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างเพื่อเป็นที่ปลงพระศพของพระนเรศวรมหาราช พระเชษฐาอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์

 

      พระอาจารย์สิงห์ทน คำซาว เป็นบุตรของนายผึ้ง-นางเขี้ยว คำซาว เกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2479 ณ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้เพียง 13 ปี ณ วัดอินทรารามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ แล้วย้ายไปศึกษาต่อโดยทุนของหลวงพ่อทองคำ ฐิตสีโล ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ศึกษาภาษาบาลี  และนักธรรม จนจบน.ธ.เอก และ   ป.ธ.4 จากนั้นได้ย้ายไปศึกษาต่อ ณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จากนั้นได้เรียนต่อจนจบ ป.ธ.7 และได้จบขั้นสูงสุดถึง PH.D ทางปรัชญาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสงฆ์ วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และจากมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย
     

       พระอาจารย์สิงห์ทนได้รับสมณศักดิ์เป็น พระปิฎก และพระทักษิณคณาธิกร พระปลัดขวาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น  ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนฯ เป็นรองเลขาธิการ มหาจุฬาฯ เป็นรองเจ้าคณะภาค 12 ปกครองปราจีนบุรี นครนายกฉะเชิงเทรา ต่อมาเมื่อพระสังฆราป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) สิ้นพระชนม์

  

    พระอ. สิงห์ทนได้ลาสิกขา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2518 อยู่เป็นฆราวาสเป็นเวลา 19 ปี  โดยใช้เวลาช่วงดังกล่าวสอนวิชาปรัชญาและศาสนา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทำสวนผลไม้ แต่ได้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ก่อนจะตัดสินใจอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 โดยมีพระครูเวฬุวันพิทักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตต่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน

 

 

       ธรรมะรักษาโรค... พระอาจารย์สิงห์ทน เป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด หลายครั้งหลายหนที่ต้องผจญวิบากกรรมแต่ท่านก็ทน และสามารถข้ามพ้นมาได้ทุกสถานการณ์ แม้แต่โรคภัยที่พระอาจารย์เผชิญอยู่คือมะเร็งกระเพาะอาหารที่ลามมาถึงลำไส้ ตั้งแต่อายุ 53 ท่านก็ไม่ยอมผ่าตัด ไม่ยอมฉายแสง ท่านบอกว่าจะอยู่กับมะเร็งต่อไปอย่างมีความสุข ทั้งที่พ่อแม่ของพระอาจารย์ต่างก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด แต่จนบัดนี้วัยของพระอาจารย์ก็ล่วงเลยมาจนอายุ 72 ปีแล้ว แต่มะเร็งก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งพระอาจารย์ได้เผยถึงวิธีการอยู่กับมะเร็งว่า ปฏิบัติตามหลักนิสสัย 4 และการสวดมนต์
      

       "นิสสัย 4 คือ การดำเนินชีวิตด้วยหลัก อ.9 คือ1.อดทน อดกลั้น 2.อาหาร ต้องเลือกอาหารที่ไม่มีพิษตกค้าง หรืออาหารที่มีสารพิษเจือปน3.อากาศบริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแปรสภาพอาหารเป็นพลังงานอย่างสมบูรณ์ 4.ออกกำลังเพื่อเอาพลัง5.อิริยาบถ 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย 6.เอาพลังจากอาทิตย์ และพระจันทร์หรือเรียกว่า พลังสุริยัน จันทรา 7.เอาพิษออก หรือการดีท็อกซ์ 8.อบรมกาย อบรมจิต คือทำจิตให้สงบเยือกเย็น มีความยับยั้งชั่งใจ และ 9.อิทธิปาฏิหาริย์คือการสวดมนต์ภาวนา ด้วยการปฏิบัติตัวดังกล่าวทำให้หน้าตาของพระอาจารย์ จึงแลดูปีติ มีเมตตา และหน้าตาเบิกบานแจ่มใส ไร้กังวล

       ชีวิตที่เหลือ.....เพื่อพระนเรศวร ปัจจุบันพระอาจารย์สิงห์ทนจำพรรษาอยู่ที่วัดวรเชษฐ์จ.พระนครศรีอยุธยา โดยพระอาจารย์ได้ย้อนให้ฟังว่าวัดวรเชษฐ์ถูกทอดทิ้งให้เป็นที่รกร้างมานาน ชาวบ้านมักนำฝูงวัวมาเลี้ยง และที่น่าเศร้าใจคือเป็นที่ทิ้งขยะกรทิพย์ สิงหเสนีย์ ประธานมูลนิธิสยามรัฐ และเป็นประธานจัดงานวันชนะศึกของสมเด็จพระนเรศวรฯ จึงไปนิมนต์ให้พระอาจารย์มาอยู่เมื่อปี 2549และเมื่อมาอยู่แล้ว พระอาจารย์ ได้เข้าไปกราบคารวะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ณ วัดชนะสงคราม ก็ได้รับคำแนะนำให้หาหลักฐาน เรื่องวัดป่าแก้ว  ให้ชัดเจนว่าเป็นวัดใดกันแน่ระหว่างวัดใหญ่ชัยมงคล และวัดวรเชษฐ์ เมื่อได้โจทย์จากพระอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นแรงผลักให้พระอาจารย์มุ่งมั่นค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ซึ่งจากหลักฐานทั้งจากสถานที่ตั้งสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนหลักฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัดวรเชษฐ์ คือวัดป่าแก้ว ที่ใช้เป็นที่ปลงพระศพของพระนเรศวรจริงทั้งยังเคยเป็นสถานที่เสี่ยงเทียนระหว่างขุนวรวงศากับพระมหาจักรพรรดิ ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้อีกด้วย
     

       พระอาจารย์ เล่าว่า ในปัจจุบันมีการศึกษากันหลายคณะสามารถสรุปเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราชบรรจุอยู่ที่พระปรางค์ย่อมุมไม้ 20 อันเป็นปรางค์ประธานอยู่หน้าโบสถ์ วัดวรเชษฐ์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วข้อพิสูจน์อีกประการคือ ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่โบราณ พบว่าวัดวรเชษฐ์ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา มีถนนโบราณตัดตรงมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันถนนของกรมทางหลวงสายอยุธยา-สุพรรณบุรีก่อสร้างทับที่บริเวณท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับบทความของ น. ณ ปากน้ำ ที่เขียนไว้และระบุชัดเจนว่า วัดวรเชษฐ์ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร วัดแห่งนี้คือวัดป่าแก้ว วัดสำคัญของเมืองที่มีสมเด็จพระพันรัตเป็นเจ้าอาวาสและเป็นสมเด็จพระสังฆราชจำพรรษาอยู่
      

        แม้จะเป็นเจตนาดี เพื่อต้องการทำนุบำรุงพุทธศาสนา และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ยังคงได้รับการต่อต้านอยู่เนืองๆ เนื่องจากพระอาจารย์สิงห์ทนเป็นพระที่มาจากที่อื่น แต่ถึงกระนั้นท่านก็มักจะกล่าวกับลูกศิษย์เสมอว่า ชีวิตที่เหลือนับจากนี้ไป ขอต่อสู้เพื่อพระนเรศวรจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/bmnd/766013

ค้นหาบทความ
bottom of page